| |
การประหาณกิเลส ๓ ประการ   |  

กิเลส คือ ธรรมชาติที่เศร้าหมองเร่าร้อน และทำให้สัตว์เศร้าหมองเร่าร้อนไปตามสภาพของตนด้วย ในพระอภิธรรมได้แบ่งกิเลสตามอาการที่แสดงออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ

๑. วีติกกมกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างหยาบที่สามารถก่อให้เกิดการเคลื่อน ไหวทางกาย ทางวาจาได้ เป็นทุจริตกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนตะกอนที่ถูกกวนอย่างแรงจนลอยขึ้นมาให้เห็น กิเลสชนิดนี้ สามารถประหาณได้ด้วยศีลกุศล หรือ มหากุศล เป็นการทำให้สงบระงับไปชั่วครั้งชั่วคราว ในขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ หรือ ยังเกิดมหากุศลจิตอยู่ การประหาณกิเลสอย่างนี้ เรียกว่า “ตทังคปหาน” แปลว่า การละด้วยองค์นั้น ๆ คือ องค์แห่งทาน องค์แห่งศีล เป็นต้น ฉันนั้น

๒. ปริยุฏฐานกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างกลาง ที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ยังไม่ล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจา เปรียบเหมือนตะกอนที่ถูกกวนเบา ๆ เกิดอาการไหวตัวอยู่ก้นตุ่มน้ำ กิเลสชนิดนี้ ได้แก่ อนุสัยกิเลสที่แปรสภาพเป็นนิวรณ์ ๕ ซึ่งเกิดอยู่ภายในมโนทวาร ไม่ถึงกับแสดงอาการล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจา กิเลสชนิดนี้ประหาณได้ด้วยอำนาจแห่งสมาธิกุศล คือฌาน ย่อมข่มทับไว้หรือระงับไว้ได้ตามสมควรแก่กำลังอำนาจของฌาน อยู่ได้นานตราบเท่าที่กำลังของฌานยังไม่เสื่อม เรียกว่า “วิกขัมภนปหาน” แปลว่า การประหาณด้วยการข่มทับไว้ เหมือนเอาหินไปทับหญ้าไว้ไม่ให้งอกขึ้นมาได้

๓. อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเวลานานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบทางทวารต่าง ๆ ย่อมสงบนิ่งอยู่ภายใน ไม่สามารถรู้สึกได้ นอกจากปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่ามีอยู่ ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เกิดการตอบสนองขึ้น ย่อมแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส และเมื่อได้เหตุปัจจัยสนับสนุนมากขึ้น ย่อมแปรสภาพเป็นวีติกกมกิเลส ล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจาต่อไป เมื่อหมดเหตุปัจจัยสนับสนุนแล้ว ก็กลับกลายเป็นอนุสัยกิเลสอีกต่อไป เปรียบเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ยังไม่ถูกกระทบ หรือไม่ถูกกวน ย่อมไม่ลอยขึ้นมาให้เห็น อนุสัยกิเลสนี้ ต้องประหาณด้วยอำนาจแห่งปัญญาในมัคคจิตทั้ง ๔ ตามสมควรแก่กำลังของมรรค ซึ่งเป็นการประหาณโดยเด็ดขาด เรียกว่า “สมุจเฉทปหาน” แปลว่า การประหาณด้วยการตัดขาด เปรียบเหมือนขุดรากถอนโคน หรือทำลายรากเง้าของต้นไม้ต้นหญ้าทิ้งไป ฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |