| |
ลักขณาทิจตุกะของกรุณาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของกรุณาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษที่เป็นทุกขิตสัตว์ คือ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังประสบความทุกข์หรือจะได้ประสบความทุกข์ในกาลข้างหน้า โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปะระทุกขาปะนะยะนะลักขะณา มีความตั้งใจที่จะช่วยผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่ให้พ้นทุกข์ เป็นลักษณะ หมายความว่า กรุณาเจตสิกนี้ย่อมมีสภาพที่มุ่งตรงไปสู่ทุกขิตสัตว์ คือ ต้องการช่วยเหลือสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์หรือจะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลใดก็ตามที่มีกรุณาเจตสิกเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่หน่ายแหนงที่จะเกิดความสงสารและหาวิธีการช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำบากซึ่งบุคคลนั้นกำลังประสบอยู่ หรือหาวิธีการป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะบังเกิดขึ้นกับบุคคลที่ตนพิจารณาเห็นเหตุแห่งทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า

๒. ปะระทุกขาสะหะนะระสา มีการไม่นิ่งดูดายต่อทุกข์ของผู้อื่น เป็นกิจ หมายความว่า บุคคลที่กำลังเกิดความสงสารในสัตว์หรือบุคคลที่มีความทุกข์นั้น ย่อมไม่นิ่งดูดายหรือเมินเฉยอยู่ไม่ได้กับความทุกข์ความเดือดร้อนของบุคคลอื่น ย่อมขวนขวายหาวิธีการช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ได้ ด้วยความอาทรใจในความทุกข์ความเดือดร้อนของบุคคลอื่น เป็นเหมือนความทุกข์ความเดือดร้อนของตนเอง ปรารถนาให้สัตว์หรือบุคคลที่กำลังประสบความทุกข์อยู่ก็ดีหรือจะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้าก็ดี พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนนั้น

๓. อะวิหิงสาปัจจุปปัฏฐานา มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลผู้มีความสงสารต่อบุคคลอื่น เมื่อทำการช่วยเหลือบุคคลที่ประสบทุกข์ ต้องวางตนให้อยู่ในขอบเขตของกฎแห่งกรรม ด้วยการพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมอันใดไว้ต้องรับผลแห่งกรรมนั้น กรรมบางอย่างบุคคลอื่นพอช่วยเหลือได้บ้าง ส่วนกรรมบางอย่างบุคคลอื่นไม่สามารถช่วยเหลือได้ เมื่อต้องประพฤติอยู่ในขอบเขตของกรุณา คือ เมื่อได้พบได้เห็นสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ก็ดีหรือจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในกาลข้างหน้าก็ดี ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า บุคคลนี้สมควรช่วยเหลือหรือไม่ และสมควรจะช่วยเหลือในขอบเขตแค่ไหนเพียงไรจึงจะถูกต้องตามกฎแห่งวัฒนธรรมประเพณี กฎกติกาของสังคมหรือกฎหมายบ้านเมือง และกฎแห่งศีลธรรมอันดีงาม แล้วจึงทำการช่วยเหลือตามสมควรที่จะช่วยเหลือได้ แต่ถ้าเกินขอบเขตที่จะช่วยเหลือได้ ก็วางใจเป็นกลางปล่อยให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรมเป็นผู้จัดสรรให้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้เห็นสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนจึงไม่ควรไปฆ่าหรือเบียดเบียนซ้ำเติมโดยคิดว่า “ให้เขาตายไปเสีย จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน” หรือคิดว่า “ช่วยให้เขาได้รับความทุกข์ทรมานให้เต็มที่ เขาจะได้หมดเคราะห์กรรมไปโดยเร็ว” เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักของกรุณา ซึ่งการคิดหรือการกระทำเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นข้าศึกษาต่อกรุณา เพราะทำให้สภาวะของกรุณาเจตสิกเสื่อมถอยและหมดไปนั่นเอง

๔. ทุกขะภูตานัง อะนาถะภาวะทัสสะนะปะทัฏฐานา มีการเห็นสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากไร้ที่พึ่ง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า กรุณาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องได้ประสบกับสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่หรือจะได้ประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อนในกาลข้างหน้าเพราะได้พิจารณาเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นแล้ว ถ้าบุคคลใดไม่มีโอกาสได้เห็นสัตว์หรือบุคคลเช่นนี้แล้ว กรุณาเจตสิกย่อมไม่สามารถเกิดกับบุคคลนั้นได้ เช่น อรูปพรหมทั้งหลาย เป็นผู้ที่ไม่มีทวารทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงไม่สามารถรับรู้ความทุกข์ความเดือดร้อนของสัตว์หรือบุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลายจึงไม่มีกรุณาเจตสิกเกิดกับจิตได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |