| |
ตถาคตพลญาณ ๑๐ ประการ   |  

ตถาคตพลญาณ หมายถึง พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคตเจ้า มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ฐานาฐานญาณ พระญาณที่รู้ประจักษ์ฐานะและอฐานะ หมายถึง ทรงทราบว่า อะไรควร อะไรไม่ควร หรืออะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้

๒. กัมมวิปากญาณ พระญาณที่รู้ประจักษ์ผลแห่งกรรม หมายถึง ทรงทราบถึงวิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุที่เป็นไปได้ ตามกฎเกณฑ์แห่งกรรม

๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ซึ่งหนทางไปสู่ภพภูมิทั้งปวง หมายถึง ทรงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั้น เป็นไปด้วยอำนาจแห่งกรรมต่าง ๆ ตามที่สัตว์นั้นก่อขึ้น

๔. นานาธาตุญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ซึ่งธาตุต่าง ๆ หมายถึง ทรงทราบว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น เมื่อว่าโดยสภาพแห่งความเป็นธาตุ คือ ความเป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ๆ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้

๕. นานาธิมุตติกญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ถึงอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปต่าง ๆ กัน หมายถึง ทรงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายมีจริตและอัธยาศัยที่แตกต่างกันออกไป ด้วยอำนาจการสั่งสมที่แตกต่างกัน

๖. อินท๎ริยปโรปริยัตติญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ถึงความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึง ทรงทราบว่า บุคคลใดได้สั่งสมอบรมอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มาอย่างแก่กล้าแล้ว บุคคลใดมีอินทรีย์ปานกลาง และบุคคลใดมีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่

๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ถึงภาวะต่าง ๆของสภาวธรรม มีความเศร้าหมองแห่งฌาน เป็นต้น หมายถึง ทรงทราบอย่างทั่วถึงในสภาวธรรมทั้งปวง และเหตุปัจจัยของธรรมทั้งหลายว่า อะไรเป็นลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐาน ปทัฏฐาน ความเศร้าหมอง และความผ่องแผ่วแห่งธรรมเหล่านั้น

๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ พระญาณที่ทรงระลึกรู้ไปในอดีตชาติได้ หมายถึง ทรงสามารถระลึกชาติในอดีตได้ ทั้งของพระองค์เองและของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีสิ้นสุด ไม่มีขอบเขต

๙. จุตูปปาตญาณ พระญาณที่ทรงทราบประจักษ์ในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย หมายถึง ทรงทราบถึงความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่กำลังเกิดอยู่ก็ดี ที่กำลังตายไปก็ดี ล้วนแต่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

๑๐. อาสวักขยญาณ พระญาณที่ทำให้สิ้นอาสวะทั้งปวง หมายถึง ทรงทราบว่า อาสวธรรมทั้ง ๔ คือ กามาสวะ ความกำหนัดในกาม ภวาสวะ ความยินดีติดใจในภพภูมิ ทิฏฐาสวะ ความยึดมั่นในความเห็นผิด อวิชชาสวะ ความไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง เหล่านี้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานของพระองค์และทรงทราบความสิ้นอาสวะของบุคคลเหล่าอื่นด้วย

พระตถาคตเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยพระกำลังทั้ง ๑๐ ประการนี้ จึงทำให้พระองค์ทรงปฏิญญาฐานะอันองอาจบันลือสีหนาทในหมู่บริษัท ทรงหมุนธรรมจักรให้เป็นไปได้ โดยไม่มีผู้ใดหมุนกลับได้ [ไม่มีผู้ใดลบล้างคำสอนหรือโต้แย้ง คัดค้านคำสอนนั้นได้]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |