| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับสติ   |  

สติสูตร [๑]

[ว่าด้วยเรื่องสติ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะไม่มี หิริและโอตตัปปะ ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีสติและสัมปชัญญะวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี อินทรีย์สังวร ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่ออินทรียสังวรไม่มี ศีล ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีอินทรียสังวรวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่อศีลไม่มี สัมมาสมาธิ ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีศีลวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาวิราคะ ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติกำจัดเสียแล้ว เมื่อนิพพิทาวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะ ชื่อว่า มีเหตุอันบุคคลผู้มีนิพพิทาวิราคะวิบัติกำจัดเสียแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว แม้สะเก็ดของต้นไม้นั้น ย่อมไม่บริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กะพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมไม่บริบูรณ์ไปด้วย ฉันนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะ ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวร ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะ ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสนนะ เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะ ชื่อว่า มีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาวิราคะ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้สะเก็ดของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กะพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ก็ย่อมบริบูรณ์ไปด้วย ฉันนั้น

สติสูตร [๒]

[ว่าด้วยผู้เจริญสติปัฏฐาน]

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า ภิกษุจึง ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสัมปชัญญะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาอันภิกษุในธรรมวินัยนี้ทราบชัดแล้วย่อมบังเกิดขึ้น ที่ทราบชัดแล้วปรากฏอยู่ ที่ทราบชัดแล้วย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ วิตกอันภิกษุทราบชัดแล้ว ย่อมบังเกิดขึ้น ที่ทราบชัดแล้วปรากฏอยู่ ที่ทราบชัดแล้วย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ปัญญาอันภิกษุทราบชัดแล้วย่อมบังเกิดขึ้น ที่ทราบชัดแล้วปรากฏอยู่ ที่ทราบชัดแล้วย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ .. อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีสัมปชัญญะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

สติสูตร [๓]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีสมาธิอันสงบ ไม่มีสมาธิอันประณีต ไม่มีสมาธิที่ได้ด้วยความสงบ ไม่มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จักแสดงฤทธิ์ได้หลาย ๆ อย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอจักฟังเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพย์โสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจว่า จิตมีราคะจักรู้ว่าจิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตยังไม่หลุดพ้นจักรู้ว่า จิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ จักรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้ย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีสมาธิอันสงบ มีสมาธิอันประณีต มีสมาธิที่ได้ด้วยความสงบ มีสมาธิที่ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จักแสดงฤทธิ์ได้หลาย ๆ อย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ จักใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักฟังเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพย์โสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจว่า จิตมีราคะก็จักรู้ว่า จิตมีราคะ ฯลฯ หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ก็จักรู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ จักระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ ฯลฯ จักรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |