ไปยังหน้า : |
ต่อไปนี้จักได้แสดงกัมมสมุฏฐานที่เป็นไปในภูมิทั้ง ๔ ประเภท คือ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ และอสัญญสัตตภูมิ ๑ ตามลำดับ
๑. กัมมสมุฏฐานในอบายภูมิ ๔ ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป ๒๐ เกิดขึ้นแก่อบายสัตว์ทั้ง ๔ ตามสมควรแก่สัตว์นั้น ๆ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากปฏิสนธิจิต ๑ อัญญสมานเจตสิกที่ประกอบ ๑๐ ในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล หมายความว่า อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ [เว้นวิริยะ ปีติ ฉันทะ] ให้ผลเป็นปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ส่วนในปวัตติกาลนั้นให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ พร้อมด้วยสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไต่สวนปัญจารมณ์ และหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ ๖ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ทางทวาร ๖ เมื่อถึงเวลาจุติคือตาย อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ พร้อมด้วยอัญญสมานเจตสิก ๑๐ [เว้นวิริยะ ปีติ ฉันทะ] ที่ประกอบ ย่อมทำหน้าที่จุติ คือ การเคลื่อนจากภพชาติเก่า เป็นอันสิ้นสุดภพชาติที่เกิดอยู่ของบุคคลนั้น
๒. กัมมสมุฏฐานในกามสุคติภูมิ ๗ ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป ๒๐ เกิดขึ้นแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ หมายความว่า มหากุศลจิตที่เป็นโอมกะนั้น ในปฏิสนธิกาล ย่อมให้ผลเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากปฏิสนธิจิต ๑ อัญญสมานเจตสิก ๑๐ [เว้นวิริยะ ปีติ ฉันทะ] พร้อมด้วยกัมมชรูป ๒๐ ตามสมควร เกิดขึ้นในมนุษยภูมิและเกิดในจาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาประเภทสุคติอเหตุกบุคคล ส่วนในปวัตติกาล ย่อมให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ เกิดขึ้นทำการรับรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร และเป็นตทาลัมพณะหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งอิฏฐมัชฌัตตารมณ์และอติอิฏฐารมณ์] ฝ่ายมหากุศลจิตที่เป็นอุกกัฏฐะนั้น ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากจิต ๘ เฉพาะดวงตามสภาพของตน ๆ ในปฏิสนธิกาล ย่อมให้ผลเป็นปฏิสนธิจิตและเจตสิกที่ประกอบ พร้อมด้วยกัมมชรูป ๒๐ ตามสมควร กล่าวคือ เป็นมนุษย์และเทวดาในกามสุคติภูมิ ๗ ส่วนในปวัตติกาล ย่อมให้ผลเป็นภวังค์และตทาลัมพณะ กล่าวคือ การรักษาภพชาติและการหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ทั้งอิฏฐมัชฌัตตารมณ์และอติอิฏฐารมณ์ ตามประเภทแห่งมหาวิบากจิตที่เป็นโสมนัสสเวทนาและอุเบกขาเวทนา หมายความว่า ถ้าตทาลัมพณจิตเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ย่อมหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ แต่ถ้าตทาลัมพณจิตเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ย่อมหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ เมื่อถึงเวลาจุติคือตาย อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ พร้อมด้วยอัญญสมานเจตสิก ๑๐ [เว้นวิริยะ ปีติ ฉันทะ] ที่ประกอบ ย่อมทำหน้าที่จุติ คือ การเคลื่อนจากภพชาติเก่า สำหรับมนุษย์และจาตุมหาราชิกเทวดาที่เป็นสุคติอเหตุกบุคคล ส่วนมหาวิบากจิต ๘ พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบกับมหาวิบากจิตแต่ละดวง ย่อมทำหน้าที่จุติ คือ การเคลื่อนจากภพชาติเก่า สำหรับมนุษย์และเทวดาที่เป็นทวิเหตุกบุคคลและติเหตุกบุคคลในกามสุคติภูมิ ๗ เป็นอันสิ้นสุดภพชาติที่เกิดอยู่ของบุคคลนั้น ๆ
๓. กัมมสมุฏฐานในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบกับรูปาวจรกุศลจิต ๕ เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป ๑๕ [เว้นฆานะ ชิวหา กายะ และภาวรูป ๒] เกิดขึ้นแก่พรหมทั้งหลายในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] หมายความว่า รูปาวจรกุศลจิต ๕ ย่อมให้ผลเป็นรูปาวจรวิบากจิต ๕ เฉพาะดวงตามสภาพของตน ๆ ในปฏิสนธิกาล ย่อมให้ผลเป็นรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๕ ดวงใดดวงหนึ่งตามประเภทแห่งภูมิ ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] กล่าวคือ รูปาวจรปฐมฌานวิบากจิต ๑ พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ ๓๕ ทำหน้าที่เป็นรูปาวจรปฐมฌานปฏิสนธิจิตและเจตสิก พร้อมด้วยกัมมชรูป ๑๕ ในปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ตามสมควรแก่ฌานของบุคคลนั้น ๆ ในปวัตติกาล ย่อมให้ผลเป็นภวังค์ คือ การรักษาภพชาติในปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิใดภูมิหนึ่ง เมื่อถึงเวลาจุติคือตาย รูปาวจรปฐมฌานวิปากจิต ๑ พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ ๓๕ ย่อมทำหน้าที่จุติ คือ การเคลื่อนจากภพชาติเก่า เป็นอันสิ้นสุดภพชาติที่เกิดอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ดังนี้เป็นต้น
๔. กัมมสมุฏฐานในอสัญญสัตตภูมิ ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบกับรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัญญาวิราคภาวนา [ภาวนาที่เกี่ยวเนื่องด้วยความเบื่อหน่ายในความรู้สึกต่าง ๆ จึงทำให้ไม่ปรารถนาที่จะมีจิต] เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูป ๑๒ คือ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ อุปจยรูป ๑ สันตติรูป ๑ เกิดขึ้นแก่อสัญญสัตตพรหมทั้งหลาย ได้แก่ การเกิดขึ้นแห่งชีวิตนวกกลาป ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ในอสัญญสัตตภูมิ อนึ่ง อสัญญสัตตพรหมทั้งหลายเป็นผู้ที่ไม่มีจิตเจตสิกเกิดเลย เพราะฉะนั้น วิถีจิต คือ การรับรู้อารมณ์ของพรหมเหล่านี้จึงไม่มี เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยกรรมเก่าอย่างเดียว และมีแต่ชีวิตนวกกลาปรูปเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดำเนินไป จนกว่าจะหมดอายุขัยในอสัญญสัตตภูมินั้น กล่าวคือ มีอายุขัยถึง ๕๐๐ มหากัปป์ และไม่มีการตายก่อนกำหนดอายุขัย ทั้งไม่ถูกทำลายด้วยภัยต่าง ๆ คือ ไฟ น้ำ ลม ด้วย เมื่อถึงเวลาจุติคือตาย ชีวิตนวกกลาปย่อมดับเป็นครั้งสุดท้าย เป็นอันสิ้นสุดภพชาติในอสัญญสัตตภูมิของ อสัญญสัตตพรหมนั้น จัดเป็นรูปจุติ คือ การตายด้วยรูป ได้แก่ ชีวิตนวกกลาปดับลงเป็นครั้งสุดท้ายนั่นเอง