| |
ลักขณาทิจตุกะของวิตกเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของวิตกเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อารัมมะณาภินิโรปะนะลักขะโณ มีการยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์เฉพาะหน้า เป็นลักษณะ หมายความว่า วิตกเจตสิกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมยกสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนไว้ในอารมณ์เสมอเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว เพราะฉะนั้น การที่คนและสัตว์ทั้งหลาย มีการนึกคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ได้นั้น การนึกคิดได้นั่นแหละเป็นสภาพของวิตกเจตสิก เพราะวิตกเจตสิกนี้ มีการทำให้จิตได้รับอารมณ์ใหม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ บุคคลใดที่มีการคิดนึกตรึกตรองถึงเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย หรือคิดเรื่อยเปื่อยไป ไม่มีจุดหมายปลายทางนั้น เรามักกล่าวกันว่า ผู้นั้นมีวิตกมาก หรือคนที่นอนไม่ค่อยหลับ เพราะคิดเรื่อยเปื่อยไปในเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย เรามักเรียกบุคคลนั้นว่า คนวิตกกังวล เพราะวิตกเจตสิกทำการยกจิตของผู้นั้นขึ้นสู่อารมณ์ใหม่อยู่เสมอ ทำให้จิตไม่ลงสู่ภวังค์ และทำให้นอนไม่หลับ ท่านฎีกาจารย์ได้แสดงอุปมาไว้ว่า บุรุษชาวชนบท [คนบ้านนอก] คนหนึ่ง มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระราชา แต่ไม่สามารถเข้าเฝ้าด้วยตนเองได้ จะต้องอาศัยผู้สนองงานใกล้ชิดของพระราชา หรือผู้มีความคุ้นเคยกับพระราชา หรือผู้ที่สามารถเข้าถึงพระราชาได้ เป็นผู้นำเข้าเฝ้า ข้อนี้ฉันใด สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตและเจตสิกไม่สามารถรับอารมณ์ได้โดยลำพังได้ ต้องอาศัยวิตกเจตสิกเป็นผู้นำเข้าไปไว้ในอารมณ์นั้น อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนพระราชา สัมปยุตตธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนบุรุษชาวชนบท วิตกเจตสิกเปรียบเหมือนบุคคลที่นำเข้าเฝ้าพระราชา

๒. อาหะนัปปะริยาหะนะระโส มีการตั้งต้นกระทบซึ่งอารมณ์บ่อย ๆ เป็นกิจ หมายความว่า กิจรส คือ หน้าที่ที่จะต้องกระทำของวิตกเจตสิก ได้แก่ การตั้งหน้ากระทบซึ่งอารมณ์อยู่เนือง ๆ เปรียบเสมือนบุคคลผู้ตีกลองหรือระฆัง ย่อมกระหน่ำตีอยู่บ่อย ๆ ทำให้เสียงกลองหรือระฆัง ดังขึ้นเป็นจังหวะ ๆ เรื่อยไปจนกว่าจะเลิกตี [ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ที่ไม่ต้องมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นผู้รับพิจารณาอารมณ์นั้นเรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ ทวิปัญจวิญญาณจิตจึงทำหน้าที่เพียงแต่รับรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ จึงไม่ต้องมีวิตกเจตสิกประกอบ] วิตกเจตสิกนี้ ย่อมมีการนำสัมปยุตตธรรมให้ขึ้นสู่อารมณ์อยู่บ่อย ๆ โดยไม่ท้อแท้แหนงหน่ายจากอารมณ์ เช่น พระโยคีบุคคลที่พิจารณากรรมฐาน มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ย่อมมีการบริกรรมว่า “ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน” ดังนี้อยู่เรื่อยไป อาการที่บริกรรมอยู่เนือง ๆ นั่นแหละ คือ การทำหน้าที่ของวิตกเจตสิก และหน้าที่ของวิตกเจตสิกนี้ จะปรากฏเด่นชัด สำหรับพระโยคีบุคคลที่เจริญสมถกรรมฐานจนวิตกองค์ฌานปรากฏเด่นชัด พร้อมกับองค์ฌานอื่น ๆ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และวิตกเจตสิกนี้ทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อย ๆ โดยไม่ท้อถอยจากอารมณ์ จึงทำการข่มถีนมิทธนิวรณ์ได้ เพราะสภาพของถีนมิทธนิวรณ์นั้น มีอาการเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์อันเป็นสภาพตรงกันข้ามกับวิตกเจตสิก เพราะฉะนั้น เมื่อวิตกองค์ฌานมีกำลังแก่กล้าแล้ว จึงสามารถประหาณถีนมิทธนิวรณ์เป็นวิกขัมภนปหาน คือ การข่มทับไว้ไม่ให้แสดงอาการกำเริบออกมาได้

๓. อานะยะปัจจุปปัฏฐาโน มีการยกจิตไว้ในอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บัณฑิตผู้มีปัญญาอันลึกซึ้งย่อมพิจารณาเห็นผลปรากฏของวิตกเจตสิกว่า มีการยกสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับตนในขณะนั้นไว้ในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ การคิดนึกตรึกถึงอารมณ์นั้นอยู่เสมอ ๆ นั่นเอง เป็นอาการปรากฏของวิตกเจตสิก ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระโยคีบุคคลบริกรรมภาวนาในอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่บ่อย ๆ จิตย่อมจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นไม่หลุดไปในอารมณ์อื่น ทำให้องค์ฌานอื่น ๆ สามารถเข้าไปคลอเคลียและแนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้นได้อย่างมั่นคง หรือบุคคลที่ตรึกนึกถึงอารมณ์ใหม่ได้อยู่เสมอ ๆ หรือการอ่านหนังสือ การพูดคุยสนทนา การบอก การสอน การท่องบ่นสาธยาย เป็นต้น ที่เป็นไปอย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัดนั้น เป็นเพราะผลจากการทำหน้าที่ของวิตกเจตสิกนั่นเอง

๔. อารัมมะณะปะทัฏฐาโน วา เสสะขันธัตต๎ยะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือ มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วิตกเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีอารมณ์ปรากฏขึ้นก่อน จึงจะสามารถยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ได้ ถ้าไม่มีอารมณ์ปรากฏขึ้นแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะยกจิตขึ้นไว้ในอะไร อีกนัยหนึ่ง วิตกเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ปรากฏเกิดขึ้นมาพร้อมด้วย วิตกเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่นับเนื่องในสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นนามขันธ์เช่นเดียวกับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ อนึ่ง การเกิดขึ้นของนามขันธ์ทั้ง ๔ นั้น ต้องเป็นไปพร้อมกันโดยลักษณะ ๔ ประการ คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน และมีที่อาศัยเกิดอันเดียวกัน ซึ่งได้แก่ การเกิดขึ้นของจิตดวงหนึ่ง พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงนั้นนั่นเอง เช่น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นมีเจตสิกประกอบ ๑๙ ดวง ในเจตสิก ๑๙ ดวงนั้น เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๑๗ ดวง มีผัสสเจตสิก เป็นต้น เป็นสังขารขันธ์ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นวิญญาณขันธ์ เมื่อมีความพร้อมเพรียงกัน ด้วยลักษณะ ๔ ประการนี้แล้ว โลภมูลจิตดวงที่ ๑ พร้อมด้วยเจตสิก ๑๙ ดวงนั้นจึงเกิดขึ้นได้ ดังนี้เป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยเสมอ จะขาดเสียซึ่งนามขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |