| |
เญยยธรรม ๕   |  

เญยยธรรม หมายถึง ธรรมที่ควรรู้ เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง และเพื่อความเข้าใจในสภาวธรรมทั้งปวงโดยถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้เป็นผู้ไม่หลงงมงายอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก เญยยธรรม มี ๕ ประการ คือ

๑. สังขาร หมายถึง สภาพที่ถูกปรุงแต่งและสภาพที่เป็นตัวปรุงแต่งเอง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

๒. ลักษณะ หมายถึง สภาวะลักษณะของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ได้แก่ สามัญญลักษณะ ๓ วิเสสลักษณะ ๔ และลักขณรูป ๔

๓. วิการ หมายถึง ความเป็นไปของจิต เจตสิก รูป ได้แก่ ลหุตา ความเบา, มุทุตา ความอ่อน, และกัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ของจิต เจตสิก รูป

๔. นิพพาน หมายถึง สภาพที่สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ หรือ สภาพที่ดับไม่เหลือแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เป็นธรรมที่เหนือโลก คือ เป็น โลกุตตรธรรมอย่างแท้จริง

๕. บัญญัติ หมายถึง สิ่งที่สมมติตั้งขึ้น เพื่อใช้เรียกขาน หรือเป็นเครื่องหมายใช้สื่อสารความหมายให้รับรู้ร่วมกันของชาวโลก ได้แก่ อัตถบัญญัติ คือ ชื่อสมมติของความหมายหรือเนื้อหาที่เป็นนามธรรม ตลอดทั้งรูปภาพและตัวหนังสือเป็นต้น และสัททบัญญัติ คือ สำเนียงที่สมมติใช้กล่าวขานกัน หรือ เรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ เพื่อสื่อความหมายให้รับรู้ร่วมกันได้

สรุปแล้ว เญยยธรรม จึงหมายถึง สภาพของสิ่งทั้งปวง ที่ปรากฏอยู่ในโลกทั้ง ๓ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมมติบัญญัติขึ้น ที่เรียกว่า สมมติสัจจะ และสภาวะของปรมัตถธรรม ๔ ที่มีความเป็นไปโดยสามัญญลักษณะและวิเสสลักษณะ ที่เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดด้วยพระองค์เองทั้งหมดโดยไม่มีส่วนเหลือ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |