| |
ความหมายของคันธรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๑๓ ได้แสดงความหมายของคันธรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า คันธะ [คันธารมณ์คือกลิ่น] คือ รูปที่ประกาศ หมายความว่า เป็นรูปที่ประกาศที่ตั้งของตน

อีกนัยหนึ่ง คำว่า โค คือ สิ่งที่ไปได้ หมายถึง ลม

คำว่า คันธะ หมายถึง รูปที่ถูกลมทรงไว้

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว คันธรูปย่อมมีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. รูปที่ประกาศที่ตั้งของตน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“คนฺธยติ อตฺตโน วตฺถุ สูเจตีติ คนฺโธ” แปลความว่า รูปใดย่อมแสดงที่อยู่อาศัยของตนให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น รูปนั้นชื่อว่า คันธะ

๒. รูปที่ถูกลมทรงไว้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “คาเวน ธารียตีติ คนฺโธ” แปลความว่า รูปใดอันโค [ลม] ย่อมทรงไว้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า คันธะ

บทสรุปของผู้เขียน :

คันธรูป ได้แก่ คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ หมายถึง ไอระเหยของรูปกลิ่นต่าง ๆ ที่กระทบกับฆานประสาท โดยอาศัยลมเป็นผู้นำพาไป และทำให้เกิดฆานวิญญาณ คือ การรู้กลิ่นต่าง ๆ ขึ้น คันธะที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณจิตนี้ชื่อว่า คันธารมณ์ ซึ่งมีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. รูปที่ประกาศที่ตั้งของตน หมายความว่า คันธรูปหรือคันธารมณ์ อันได้แก่ กลิ่นต่าง ๆ นั้น เมื่อฟุ้งกระจายออกไปโดยอาศัยลมพัดพาไปแล้ว ย่อมทำให้บุคคลผู้มีฆานปสาทสามารถรับรู้ได้ และเมื่อมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายได้รับกลิ่นนั้น ๆ แล้ว ย่อมสามารถค้นหาทิศทางที่มาของกลิ่นและหาสิ่งที่กลิ่นนั้นอาศัยเกิดอยู่ได้

๒. รูปที่ถูกลมทรงไว้ หมายความว่า คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ จะแผ่กระจายไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ได้ ต้องมีลมพัดพาไป หรือแม้แต่จะกระทบกับฆานปสาทได้ ก็ต้องมีลมพัดพาเข้าไปเช่นเดียวกัน ไม่สามารถกระทบกับฆานปสาทได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ จึงชื่อว่า มีลมอุปถัมภ์อุ้มชูไว้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |