| |
สัญญา ๖   |  

สัญญา หมายถึง สภาวธรรมที่มีการเก็บจำอารมณ์ซึ่งสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนรับเอามาทางทวารต่าง ๆ สัญญาเจตสิกย่อมทำการบันทึกเก็บจำไว้ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างนั้นอีก ก็จะป้อนข้อมูลที่เก็บจำไว้ให้ปรากฏแก่สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แต่จะจำถูกหรือจำผิด ชัดเจนหรือไม่ค่อยชัดเจนนั้น ขึ้นอยู่กับสัมปยุตตธรรมที่ประกอบกับตน เป็นผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองหรือไม่ นั่นไม่ใช่หน้าที่ของสัญญา หน้าที่ของสัญญานั้นมีเพียงการเก็บจำไว้อย่างเดียว ถ้าสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับสัญญา ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองอารมณ์อย่างดี และทำการรับรู้อย่างเด่นชัด สัญญาเจตสิกย่อมเก็บจำไว้ได้ถูกต้องและชัดเจน จำได้แม่นยำ ถ้าสัมปยุตตธรรมไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรอง รับรู้มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำไว้แบบผิด ๆ และถ้าสัมปยุตตธรรมทำการรับรู้มาไม่เด่นชัด สัญญาย่อมเก็บจำไว้ไม่ค่อยเด่นชัด ย่อมมีอาการเลอะเลือนได้ เมื่อสรุปแล้ว สัญญาเจตสิกมีสภาวะลักษณะ คือ การเก็บจำอารมณ์ไว้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเพราะการเก็บจำอารมณ์ไว้ได้นี้เอง จึงทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย สามารถรับรู้อารมณ์ได้วิจิตรพิสดาร ทั้งอดีตอารมณ์ อนาคตอารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ และกาลวิมุตตอารมณ์ ถ้าขาดสัญญาแล้ว สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถรับอารมณ์ได้หลากหลาย ดังที่ปรากฏให้เห็น และบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนและทรงจำวิชาความรู้ต่าง ๆ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามานั้น ย่อมจะเลอะเลือนหลุดหายไปจากจิตใจหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ วิวัฒนาการทางความคิด การพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น สัญญาจึงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสัญญาว่าเป็นกองแห่งธรรมหมวดหนึ่ง เรียกว่า สัญญาขันธ์ เพราะทำหน้าที่สำคัญในการเก็บจำอารมณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นข้อมูลให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายได้รับรู้เป็นพิเศษต่อไป ได้แก่

๑. รูปะสัญญา การเก็บจำรูปารมณ์ หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับรูปารมณ์ คือ รูปร่าง สัณฐาน สีสัน วรรณะของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งทางจักขุทวารวิถีที่คลื่นแสงสะท้อนมากระทบกับประสาทตาแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพของรูปารมณ์นั้น ไว้ตามสมควรแก่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นจะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของรูปารมณ์ได้อย่างละเอียดถ้วนถี่ สัญญาเจตสิกย่อมเก็บจำข้อมูลของรูปารมณ์นั้นไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของรูปารมณ์ได้เพียงผิวเผิน สัญญาเจตสิกย่อมเก็บจำข้อมูลของรูปารมณ์นั้นไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของรูปารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาเจตสิกย่อมเก็บจำข้อมูลของรูปารมณ์ไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

๒. สัททะสัญญา การเก็บจำเสียง หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับสัททารมณ์ คือ คลื่นเสียงของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งทางโสตทวารวิถีที่ลมพัดพามากระทบกับประสาทหูแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพสัททารมณ์ของสิ่งนั้น ๆ ไว้ตามสมควรแก่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นจะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของสัททารมณ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของสัททารมณ์นั้นไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของสัททารมณ์ได้เพียงผิวเผิน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของสัททารมณ์นั้นไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพหรือข้อมูลของสัททารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของสัททารมณ์นั้นไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

๓. คันธะสัญญา การเก็บจำกลิ่น หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับคันธารมณ์ คือ ไอกลิ่นของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งทางฆานทวารวิถีที่ระเหยเข้าไปกระทบกับประสาทจมูกแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพคันธารมณ์ของสิ่งนั้นไว้ตามสมควรที่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น จะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของคันธารมณ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของคันธารมณ์นั้นไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของคันธารมณ์ได้เพียงผิวเผิน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของคันธารมณ์นั้นไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพหรือข้อมูลของคันธารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของคันธารมณ์นั้นไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

๔. ระสะสัญญา การเก็บจำรส หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับรสารมณ์ คือ สสารแห่งรสของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งทางชิวหาทวารวิถี ที่น้ำลายช่วยละลายให้ซึมซาบไปสู่ประสาทลิ้นแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพ รสารมณ์ของวัตถุสิ่งของไว้ตามสมควรที่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นจะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของรสารมณ์ได้อย่างละเอียดถ้วนถี่ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของรสารมณ์นั้นไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของรสารมณ์ได้เพียงผิวเผิน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของรสารมณ์นั้นไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพหรือข้อมูลของ รสารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของรสารมณ์นั้นไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

๕. โผฎฐัพพะสัญญา การเก็บจำสิ่งที่สัมผัส คือ ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ สภาพของธาตุดิน ธาตุลม และธาตุไฟ ของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งทางกายทวารวิถีที่มีธาตุดินอันเป็นสภาพแข็งช่วยเป็นฐานให้เกิดการกระทบสัมผัสกับกายประสาทแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพโผฏฐัพพารมณ์ของสิ่งนั้น ๆ ไว้ตามสมควรที่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นจะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของโผฏฐัพพารมณ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของโผฏฐัพพารมณ์ไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของโผฏฐัพพารมณ์ได้เพียงผิวเผิน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของโผฏฐัพพารมณ์นั้นไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพหรือข้อมูลของโผฏฐัพพารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของโผฏฐัพพารมณ์นั้นไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

๖. ธัมมะสัญญา ความเก็บจำธรรมารมณ์ หมายความว่า เมื่อสัมปยุตตธรรมรับธรรมารมณ์ คือ ความรู้สึกถึงสภาพนามธรรม ได้แก่ รับรู้หรือนึกถึงสภาพของจิตและเจตสิก หรือนึกถึงสภาพของรูปธรรม ได้แก่ นึกถึงสภาพของปสาทรูป หรือสภาพของสุขุมรูป หรือนึกถึงสภาพของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ผ่านมาแล้ว เรียกว่า อดีตอารมณ์ก็ดี ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อสักครู่ ที่เรียกว่า ปัจจุบันสันตติอารมณ์ ที่เป็นการรับต่อจากปัญจทวารวิถีก็ดี ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เรียกว่า อนาคตอารมณ์ ก็ดี หรือสภาพบัญญัติของอารมณ์นั้น ๆ ที่เรียกว่า กาลวิมุตตอารมณ์ ก็ดี อันเป็นสภาพของสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีสภาพเป็นธรรมารมณ์ได้ เมื่อสัมปยุตตธรรมรับรู้สภาพของธรรมารมณ์ทางมโนทวารวิถีแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำหน้าที่บันทึกเก็บจำข้อมูลที่เป็นสภาพธรรมารมณ์ของสิ่งนั้น ๆ ไว้ตามสมควรที่ประสิทธิภาพของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น จะสามารถรับเอามาได้ ถ้าสัมปยุตตธรรมสามารถรับสภาพของธรรมารมณ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของธรรมารมณ์นั้นไว้ได้อย่างละเอียด ถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพของธรรมารมณ์ไว้ได้เพียงผิวเผิน สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของธรรมารมณ์ไว้ได้เป็นบางส่วน และถ้าสัมปยุตตธรรมรับสภาพหรือข้อมูลของธรรมารมณ์มาแบบผิด ๆ สัญญาย่อมเก็บจำข้อมูลของธรรมารมณ์นั้นไว้แบบผิด ๆ เช่นเดียวกัน

สัญญา ๖ ประการนี้ เป็นได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ถ้ากำหนดจดจำเพื่อให้จิตเป็นกุศล ย่อมจัดเป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าจำแล้วทำให้จิตเป็นอกุศล ย่อมจัดเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี

เพราะฉะนั้น การเก็บจำอารมณ์ของสัญญาเจตสิก จึงขึ้นอยู่กับสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนว่าจะมีประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ได้มากน้อย หรือผิดถูกเพียงใด สัญญาเจตสิกย่อมทำหน้าที่เก็บจำอารมณ์ตามสภาพที่สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นรับเอามานั่นเอง เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกย่อมมีหน้าที่ในการเก็บจำสภาพของอารมณ์ไว้โดยตรง ส่วนสัมปยุตตธรรมเหล่าอื่นย่อมไม่มีหน้าที่ในการเก็บจำอารมณ์ไว้แต่ประการใด เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิก จึงมีบทบาทในฐานะเป็นสัญญาขันธ์ คือ หมวดหมู่แห่งสภาวธรรมที่เป็นผู้เก็บจำอารมณ์ไว้นั่นเอง

อนึ่ง สัญญาเจตสิก ในขณะที่ประกอบกับกุศลจิต และสเหตุกกิริยาจิต [กิริยาจิตที่มีเหตุประกอบ ซึ่งเป็นสภาพของกุศลจิตนั่นเอง แต่เป็นจิตที่เกิดกับพระอรหันต์ จึงเรียกว่า กิริยาจิต] ย่อมทำหน้าที่เก็บจำสภาพของอารมณ์ที่ดีไว้ ที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ทั้งที่เป็นอติอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ดียิ่งก็ดี หรือ อิฏฐมัชฌัตตารมณ์คืออารมณ์ที่ดีปานกลางก็ดี เพราะฉะนั้น เมื่อสัมปยุตตธรรมที่เป็นกุศล หรือ กิริยาจิตของพระอรหันต์ทำการรับรู้อารมณ์ครั้งใด ถ้าอารมณ์นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพของอารมณ์ที่สัญญาเจตสิกเก็บจำไว้ สัญญาเจตสิกย่อมทำการป้อนข้อมูลที่เป็นสภาพของอารมณ์หรือสภาพความรู้สึกต่ออารมณ์ก็ดีให้แก่สัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ทำให้สามารถรับรู้และวิวัฒนาการทางความรู้และความรู้สึกนึกคิดในทางที่เป็นกุศลสืบต่อไปได้อย่างวิจิตรพิสดาร เช่น การคิดประดิษฐ์ หรือ ทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ตน แก่บุคคลอื่น แก่สังคม ประเทศชาติ หรือประโยชน์แก่พระศาสนา เป็นต้น ได้อย่างมากมาย

สัญญาเจตสิก ในขณะที่ประกอบกับอกุศลจิต ย่อมทำหน้าที่เก็บจำสภาพของอารมณ์ที่ไม่ดีและความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อสัมปยุตตธรรมที่เป็นอกุศล ทำการรับรู้อารมณ์ครั้งใด ถ้าอารมณ์นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพของอารมณ์ที่สัญญาเจตสิกได้เก็บจำไว้ สัญญาเจตสิกย่อมทำการป้อนข้อมูลที่เป็นสภาพของอารมณ์หรือสภาพความรู้สึกต่ออารมณ์ให้แก่สัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ทำให้สามารถรับรู้และวิวัฒนาการทางความรู้สึกนึกคิดในทางที่เป็นอกุศลสืบต่อไปได้อย่างวิจิตรพิสดาร เช่น การผูกพันหลงใหล มัวเมาอยู่กับพฤติกรรมที่เป็นอกุศล หรือการคิดทำสิ่งที่เป็นอกุศล อันมีความชั่วช้าเลวทราม เป็นไปเพื่อก่อทุกข์ ก่อโทษ ก่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ แก่ตนเอง บุคคลอื่น สังคม ประเทศชาติ หรือพระศาสนา เป็นต้น อย่างมากมาย

สัญญาเจตสิกนี้ ในขณะที่ประกอบกับวิบากจิต ย่อมทำหน้าที่ป้อนข้อมูลที่เป็นสภาพของอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ตามสมควรแก่สภาพของวิบากจิตนั้น ให้แก่สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลก็ดี ที่เป็นอกุศลก็ดี ที่เป็นกิริยาก็ดี หรือรับเสพสภาพของอารมณ์ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อสัมปยุตตธรรมที่เป็นวิบากเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่ประกอบกับวิบากจิต ย่อมจะทำการป้อนข้อมูลที่เป็นสภาพของอารมณ์ก็ดีและสภาพของความรู้สึกต่ออารมณ์ก็ดีให้แก่สัมปยุตตธรรมเหล่านั้น และเป็นผลพวงไปให้แก่ชวนจิตที่เป็นอกุศลก็ดี กุศลก็ดี หรือกิริยาก็ดี ได้เสพอารมณ์นั้นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ สัญญาเจตสิกจึงสามารถประกอบกับจิตได้ทุกดวง และเกิดพร้อมกับเจตสิกอื่น ๆ ได้ทุกดวงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสภาวธรรมที่มีบทบาทสำคัญในการเก็บจำอารมณ์ไว้ให้แก่สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ถ้าหากขาดสัญญาเจตสิกเสียแล้ว สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมขาดผู้ป้อนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของอารมณ์ต่าง ๆ ให้ สภาพของอารมณ์ต่าง ๆ ที่สัมปยุตตธรรมทั้งหลายรับมา ย่อมจะเลือนหายไปหมดสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับรู้อารมณ์ที่ทำให้เกิดความวิจิตรพิสดารของสัมปยุตตธรรมทั้งหลายนั้น ย่อมมีไม่ได้เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนการใส่วัตถุสิ่งของลงไปในภาชนะที่รั่ว หรือทะลุ วัตถุสิ่งของย่อมไม่สามารถที่จะติดค้างอยู่ในภาชนะนั้นได้ ย่อมร่วงหล่นลงไปหมดสิ้น บุคคลนั้น ย่อมไม่สามารถรวบรวมเก็บวัตถุสิ่งของอะไรไว้ได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |