| |
พระสัทธรรม ๓ ประการ   |  

พระสัทธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม หมายความว่า ธรรมที่มีสารประโยชน์ มีเหตุผล ควรยึดถือปฏิบัติ สามารถนำผู้ปฏิบัติตามนั้นให้ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น โดยย่อมี ๓ ประการ โดยพิสดารมี ๑๐ ประการ

พระสัทธรรมโดยย่อ มี ๓ ประการ คือ

๑. ปริยัติสัทธรรม ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถาให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องหายจากความเคลือบแคลงสงสัยในหลักปริยัติ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามอย่างถูกต้องต่อไป

๒. ปฏิบัติสัทธรรม ได้แก่ การปฏิบัติตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วเป็นอย่างดี คือ การรักษาศีล การถือธุดงค์ การเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น สรุปแล้วก็คือ การเว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต และการชำระจิตของตนให้สะอาดผ่องแผ้วจากอกุศลบาปธรรมทั้งปวง ตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระโอวาทปาติโมกข์นั่นเอง

๓. ปฏิเวธสัทธรรม ได้แก่ การได้บรรลุผลของการปฏิบัติ คือ การเป็นผู้มีกายวาจาบริสุทธิ์ด้วยศีล มีใจบริสุทธิ์ด้วยสมาธิ และมีปัญญาสว่างรุ่งเรือง ตลอดจนได้บรรลุมรรค ผล ฌาน อภิญญา สมาบัติ ตามสมควรแก่การปฏิบัติและบารมีธรรมของบุคคลนั้น

พระสัทธรรมโดยพิสดาร ๑๐ ประการ คือ ปริยัติธรรม ๑ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |