| |
อกุศลวิตก ๓ อย่าง   |  

๑. กามวิตก ความตรึกในกาม หมายความว่า สภาพของวิตกเจตสิกที่ประกอบกับโลภมูลจิต อันมีโลภเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน ย่อมตรึกนึกคิดไปในกามคุณอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ โดยมาก ทำให้บุคคลที่เกิดโลภมูลจิตที่เกี่ยวเนื่องกับกามวิตกนั้น มีความกำหนัดยินดี ดิ้นรนแสวงหากามคุณอารมณ์มาเสพคุ้นอยู่บ่อย ๆ ถ้าไม่สำรวมระวังและงดเว้น ย่อมกลายเป็นบุคคลผู้หมกมุ่นในกาม หรือถูกกิเลสกามรุมเร้า จนหมดอิสรภาพของตนเอง ต้องตกเป็นทาสของกาม เรียกว่า กามาวรณ์ คือ กิเลสกามขัดขวางไม่ให้ไปสู่คุณธรรมเบื้องสูงได้

๒. พยาปาทวิตก ความตรึกนึกถึงเรื่องความพยาบาทปองร้าย หมายความว่า สภาพวิตกเจตสิกที่ประกอบกับโทสมูลจิต อันมีโทสเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน ย่อมตรึกนึกคิดไปในความประทุษร้ายต่ออารมณ์ คือ ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอับอาย ความหน้าด้าน ความอาฆาต พยาบาท จองเวร เป็นต้นโดยมาก ทำให้บุคคลที่เกิดโทสมูลจิตที่เกี่ยวเนื่องกับพยาปาทวิตกนั้น มีความทุกข์ทรมานใจ ดิ้นรนกระวนกระวายที่จะผลักไสอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่าชอบใจให้ออกไปจากจิตใจ หรือหาทางที่จะทำลายอารมณ์ที่ตนเองประสบอยู่ให้พินาศไป ถ้าไม่สามารถระงับหรือบรรเทาได้ ย่อมกลายเป็นบุคคลผู้มีโทสจริต คิดอาฆาตพยาบาทจองเวรกับบุคคลทั้งหลาย หรือหงุดหงิดรำคาญใจง่าย คบหาสมาคมกับบุคคลอื่นได้ยาก หรือกลายเป็นบ้าเสียสติไปก็มี

๓. วิหิงสาวิตก ความตรึกนึกถึงเรื่องที่จะทำการเบียดเบียน หมายความว่า สภาพวิตกเจตสิกที่ประกอบกับโทสมูลจิต อันมีโทสเจตสิกเป็นมูลเป็นประธาน ย่อมตรึกนึกคิดไปในทางอาฆาต พยาบาท จองเวรอยู่บ่อย ๆ เมื่อเก็บกดสะสมมากเข้า ทำให้บุคคลที่เกิดโทสมูลจิตที่เกี่ยวเนื่องกับวิหิงสาวิตกนั้น กลายเป็นอาชญากรสังคมไปก็มีมาก หรือกระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ ด้วยอำนาจโทสะ และอยู่ด้วยความเดือดร้อนใจเนือง ๆ

อกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริผิด ซึ่งเป็นความดำริที่เป็นไปตามอำนาจอกุศลธรรมที่มีกำลังเหนือกว่าสัมปยุตตธรรมอย่างอื่น ทำให้เกิดอกุศลจิต มีความคิดที่เป็นไปเพื่อก่อโทษก่อทุกข์ทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น อันเป็นหนทางให้ถึงทุคติ วินิบาต นรก และความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |