| |
การพิจารณาไตรลักษณ์แห่งรูปปรมัตถ์   |  

ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ อย่าง หมายถึง อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นไปอย่างนั้น มี ๓ ประการ ได้แก่

๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง

๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่ไม่ได้

๓. อนัตตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน

รวมทั้ง ๓ ลักษณะเหล่านี้ จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์ และลักษณะทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ย่อมมีแก่สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งปวงที่เป็นสังขตธรรม เสมอเหมือนกันหมด กล่าวคือ สภาวธรรมทั้งหลายที่เรียกว่า สังขตธรรม หรือสังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น ล้วนมีสภาพไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแปรเปลี่ยนไป เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตนที่จะให้เป็นไปตามใจปรารถนาต้องการได้ทุกอย่าง เพราะเหตุนั้น ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่เสมอเหมือนกันของสังขตธรรมหรือสังขารธรรมทั้งหมด ดังกล่าวแล้ว

ท่านพระฎีกาจารย์ได้อธิบายความหมายของไตรลักษณ์ไว้ดังต่อไปนี้

ที่ชื่อว่า ลักษณะ นั้น เพราะอรรถว่า เป็นข้อควรกำหนด หรือเป็นเครื่องมือสำหรับกำหนดรู้ ได้แก่ ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ชื่อว่า อนิจจลักษณะ ฯ ลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ กล่าวคือความบีบคั้น ทนอยู่ไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นและเสื่อมไป จึงชื่อว่า ทุกขลักษณะ ความไม่มีแห่งอัตตาที่ชนพวกอื่นกำหนดไว้ ชื่อว่า อนัตตา ฯ ลักษณะแห่งอนัตตา [คือความไม่ใช่ตัวตน] นั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนัตตลักษณะ ฯ การพิจารณาเห็นลักษณะทั้ง ๓ ชื่อว่า อนิจจานุปัสสนาทิกา แปลว่า การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงเป็นต้น

คำว่า ลักขณะ หรือ ลักษณะ มีวจนัตถะแสดงว่า ลกฺขียนฺติ ลกฺขิตพฺพํ อเนนาติ= ลกฺขณํ แปลความว่า บุคคลย่อมหมายจำสังขตธรรมทั้งหลายด้วยเครื่องหมายนี้ เพราะเหตุนั้น เครื่องหมายนี้ จึงชื่อว่า ลักขณะ แปลว่า เครื่องหมายอันบุคคลใช้หมายจำสังขตธรรมทั้งหลาย ได้แก่ ลักขณะทั้ง ๓ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ

อธิบายความว่า

ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ ๓ ประการของสภาวธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นสังขารธรรมหรือสังขตธรรม ซึ่งสังขารธรรมทั้งหลายจะต้องมีจะต้องเป็นไปเหมือนกันทั้งหมด โดยไม่มียกเว้น ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกว่า สามัญญลักษณะ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลาย กล่าวคือ

๑. อนิจจลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล โดยมีความเกิดขึ้น เรียกว่า อุปปาทะ แล้วก็เสื่อมไป เรียกว่า วยะ มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เรียกว่า วิปริณามะ เป็นของชั่วคราว เรียกว่า ตาวกาลิกะ และเป็นปฏิปักษ์กับความเที่ยง เรียกว่า นิจจปฏิกเขปะ

๒. ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมสลายสิ้นไป โดยถูกบีบคั้นอยู่เสมอ เรียกว่า อภิณหสัมปฏิปาฬนะ โดยความทนได้ยาก เรียกว่า ทุกขมะ โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เรียกว่า ทุกขวัตถุ โดยเป็นปฏิปักษ์กับความสุข เรียกว่า สุขปฏิกเขปะ

๓. อนัตตลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน เพราะเหตุที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของว่างเปล่า เรียกว่า สุญญตะ โดยความไม่มีเจ้าของ เรียกว่า อัสสามิกะ โดยไม่ยอมเชื่อฟัง เรียกว่า อนุสวัตตนะ โดยความเป็นปฏิปักษ์กับอัตตา เรียกว่า อัตตปฏิกเขปะ

การเพ่งไตรลักษณ์ของวิปัสสนาปัญญานั้น จะเพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนกัน และย่อมเป็นแนวทางให้สำเร็จอริยมรรคอริยผลได้เช่นเดียวกัน ดังในพระบาลีธรรมบท อนิจจลักขณวัตถุ ทุกขลักขณวัตถุ และอนัตตลักขณวัตถุรุ.๓๙ ที่แสดงว่า ภิกษุเพ่งอนิจจังล้วนก็มี เพ่งทุกขังล้วนก็มี หรือเพ่งอนัตตาล้วนก็มี ในที่สุดย่อมสำเร็จอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน พระบาลีในสังยุตตนิกายและอุทาน สมเด็จพระบรมศาสดาได้แสดงแก่พระเมฆิยะว่า

อนิจฺจสญฺโน หิ เมฆิย อนตฺตสญฺา สณฺาติ อนตฺตสญฺา อสฺมิมานสมุคฺฆาตํ ปาปุณาติ ทิฏฺเว ธมฺเม นิพฺพานนฺติรุ.๔๐

แปลความว่า

ดูก่อนเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียวรุ.๔๑

อธิบายความว่า

สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ผู้ที่เห็นโดยอนิจจสัญญา ผู้เห็นโดยอนัตตสัญญาย่อมถึงภาวะที่ถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะเสียได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ หมายความว่า การเพ่งวิปัสสนาภาวนานั้น แม้ท่านจะแสดงนามรูปไว้ทั้งหมดก็ตาม แต่ความจริงแล้ว แม้พระโยคีบุคคลจะเพ่งเพียงรูปารมณ์อย่างเดียว หรือสัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้เหมือนกัน ตามอัธยาศัย พระบาลีในพระสุตตันตปิฎก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงว่า จกฺขุ อนิจฺจํ ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยททุกฺขํ ตํ อนตฺตารุ.๔๒ ดังนี้เป็นต้น ส่วน โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และมโน ก็มีนัยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การเพ่งไตรลักษณ์นั้น แม้จะเพ่งอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือเพ่งรูปอย่างเดียว เพ่งนามอย่างเดียวก็ได้ แต่ถ้ามีปัญญาสามารถจะเพ่งทั้งรูปและนามพร้อมกันก็ได้ ย่อมเป็นเหตุให้สำเร็จอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

เมื่อพระโยคีบุคคลรู้หรือเห็นนามธรรมรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ต้องพิจารณาโดยลักษณะ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ พิจารณาว่า สภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งเที่ยงหรือไม่เที่ยง เมื่อรู้ว่าไม่เที่ยงแล้วย่อมตัดสินได้ว่า เป็นอนิจจัง หรือสภาวธรรมนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์แล้วย่อมตัดสินได้ว่า เป็นทุกขัง หรือสภาวธรรมนั้นมีสาระหรือไม่มีสาระ เมื่อรู้ว่าเป็นธรรมไม่มีสาระแก่นสารแล้วย่อมตัดสินว่า เป็นอนัตตา ต้องพิจารณาไปโดยตลอดจนถึงที่สุดแห่งสภาวธรรมแต่ละอย่าง จนสามารถตัดสินได้ว่า ธรรมดาสังขารธรรมหรือสังขตธรรมทั้งหลาย ล้วนมีสภาพเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นเครื่องหมายตัดสินสังขตธรรมทั้งหมด จึงชื่อว่า ลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |